เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะออกแล้วปี 2563 5/5 (5)



โหวตบทความนี้หน่อยจ้า

เห็ดเผาะ” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “เห็ดถอบเป็นเห็ดพื้นบ้านที่จะขึ้นเองตามธรรมชาติในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน และจะมีผลผลิตออกมาให้กินในช่วงต้นฤดูฝนแบบนี้ (ราวเดือน พ.ค.-มิ.ย.)


หน้าตาของเห็ดเผาะจะเป็นลูกกลมๆ ถ้ายังอ่อนอยู่ข้างในจะมีสีขาวนวล เปลือกนอกกรอบ ถ้าแก่แล้วเปลือกนอกจะเป็นสีน้ำตาลถึงดำ ส่วนเนื้อด้านในก็จะเป็นสีดำไปด้วย ส่วนถ้าใครจะไปหาซื้อที่ตลาดมาทำกิน จะต้องเลือกแบบที่ยังอ่อนอยู่ โดยสังเกตให้สีผิวของเห็ดไม่ดำมาก เห็ดต้องไม่แช่น้ำหรือล้างน้ำมาก่อน แต่พอซื้อมาแล้ว ก่อนจะนำไปประกอบอาหารต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ น้ำ จนหมดดิน เพราะเห็ดถอบ เห็ดเผาะเกิดในดิน

ส่วนสรรพคุณของเห็ดเผาะนั้นก็มีหลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการช้ำใน ลดอาการบวมหรืออักเสบ แก้ร้อนใน เป็นต้น

สรรพคุณก็ดี นำไปทำอาหารก็อร่อย แบบนี้ต้องออกไปหาเห็ดเผาะมาปรุงอาหารสักเมนูแล้ว แต่ถ้าอยากกินเห็ดเผาะสดๆ ต้องรีบหากินกันหน่อย เพราะในหนึ่งปีจะมีให้ชิมกันเฉพาะช่วงหน้าฝนแบบนี้เท่านั้น ส่วนนอกฤดูกาลก็ยังมีเห็ดเผาะแปรรูปบรรจุกระป๋องให้เลือกซื้อมาปรุงเมนูอร่อยกัน

ตอนเด็กๆ ยังจำคำพูดที่ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านมักพูดเสมอว่า กินแกงเห็ดเผาะใส่น้ำเอ๊าะเจ๊าะ แล้วก็ต้องเคี้ยวให้ดังเป๊าะๆ ด้วยนะ ท่านบอกว่ามันถึงจะอร่อย

เมื่อกินแกงเห็ดเผาะแล้วจะต้องเคี้ยวดัง “เป๊าะ” “เผาะ” ทุกครั้ง (จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อเห็ดหรือป่าว!) เพราะเห็ดเผาะนั้น ผิวด้านนอกจะกรอบ ส่วนด้านในจะกลวง จึงทำให้รู้สึกว่ามีความกรอบ มัน เวลาเคี้ยวนั่นเอง!

เห็ดเผาะ คือหนึ่งในเมนูเห็ดชื่อดังทางภาคเหนือ

เห็ดเผาะ คือหนึ่งในเมนูเห็ดชื่อดังทางภาคเหนือ ด้วยสัมผัสกรุบ รสหวาน เคี้ยวแตกดังเป๊าะในปากเพลิดเพลิน ความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นทุกปีทำให้ชาวบ้านเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดชนิดนี้ออกมาขายจำนวนมาก
ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ค้นพบวิธีการเพาะเห็ดเผาะที่จะทำให้เรามีเห็ดกินจำนวนมาก โดยไม่ต้องเปลืองตังค์และเปลืองแรงออกไปตามหาในป่าอีกต่อไป
การเพาะเห็ดเผาะไม่สามารถเพาะในโรงเห็ดแบบทั่วไปได้ แต่ต้องอาศัยการเพาะโดยอิงตามธรรมชาติของมัน ที่ต้องเพาะให้เติบโตกับรากไม้ โดยการนำหัวเชื้อไปราดบริเวณรากของต้นกล้า และใช้เวลา 3 ปีในการเจริญเติบโต และมีข้อจำกัดสำคัญอย่างหนึ่งคือ บริเวณต้นไม้ที่มีเชื้อเห็ดนำไปปลูกนั้นต้องไม่มีการใช้สารพิษใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นตัวเห็ดที่ออกมาจะกลายเป็น ‘เห็ดพิษ’ ไม่สามารถกินได้


เห็ดเผาะในธรรมชาติ 

“เห็ดเผาะ” (อีสาน) หรือ “เห็ดถอบ” (เหนือ) เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้น ส่วนมากจะพบเห็ดเผาะตามป่าธรรมชาติในช่วงต้นฤดูฝน ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีหรือเทคโนโลยีที่สามารถเพาะเองได้ หรืออาจจะมีแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงไม่ค่อยเห็นมีการเพาะเห็ดเผาะกันเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับเห็ดเผาะที่หาซื้อหรือนำมากินทุกวันนี้เป็นเห็ดเผาะที่เก็บได้ตามป่าเต็งรังในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น

“เห็ดเผาะ” เกิดขึ้นได้ทุกภาค แต่ยกเว้นภาคใต้ที่ไม่มี เห็ดเผาะเป็นที่นิยมกินกันทั่วไปตามหมู่บ้านแถวชนบท เห็ดเผาะเป็นเห็ดที่มีขนาดเล็ก เกิดในป่าที่เป็นดินโคก หรือดินที่เป็นดินเหนียวปนหินดินแดง มักเกิดเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะกลม แบน เป็นส่วนใหญ่ เห็ดเผาะที่มีสีออกคล้ำโทนน้ำตาล ชาวบ้านจะเรียก เห็ดเผาะ เฉยๆ แต่เห็ดเผาะ ส่วนที่มีสีโทนขาว และมีใยเหมือนฝ้ายพันรอบๆ เขาเรียกว่า เห็ดเผาะฝ้าย เพราะมันมีสีขาวเหมือนฝ้าย

เห็ดเผาะป่า
เห็ดเผาะ
เห็ดเผาะ
เห็ดเผาะ

การเพาะเห็ดเผาะ
เห็ดเผาะนั้นสามารถเพาะขึ้นมาได้โดยอาศัยต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น และต้องอยู่ร่วมกันแบบอาศัยพึ่งพากับต้นเต็ง รัง ต้นยาง ซึ่งต้องยกให้เป็นเรื่องของธรรมชาติไปก็แล้วกัน! เมื่อคนเพาะเห็ดเผาะไม่ได้ จึงทำให้มีราคาแพงไม่เคยตกเลยทุกปี แถมยังหากินได้ยาก และได้กินปีละครั้งเท่านั้น สำหรับเมนูเห็ดเผาะนั้น ถือเป็นหนึ่งในเมนูสุดฮิตของคนเหนือ และอีสานที่เขานิยมชมชอบกินกันมาก

เห็ดเผาะ เป็นเห็ดราชั้นสูง มีวิวัฒนาการมาหลายล้านปี ทำหน้าที่ปรับสภาพดิน แลกเปลี่ยนสารอาหาร ย่อยสลายสารที่จำเป็นต่อผืนป่าให้กลับคืนสู่ดิน ซึ่งส่วนมากป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าแดง จะเป็นถิ่นกำเนิดของเห็ดเผาะ และอาหารของมันคือ สารขี้กะยือ ได้จากการย่อยสลายของใบไม้ชนิดที่เกิดในป่าเต็งรัง และการทับถมของใบไม้ทำให้เกิดแบคทีเรียกลุ่ม รูปทรงกลมรี หรือรูปไข่ เมื่อถูกน้ำฝนดูดซึมลงผืนดิน ก็จะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายสารอินทรีย์จนเป็นโมเลกุลเล็ก เชื้อราของเห็ดเผาะก็ดูดซึมเข้าเซลล์ตัวเองจนเจริญเติบโต กลายมาเป็น “เห็ดเผาะ”

ลักษณะของเห็ดเผาะเป็นเห็ดไม่มีก้านดอก มีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ผนังดอกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอก กับ ชั้นใน ภายในประกอบด้วยสปอร์จำนวนมาก เมื่อแก่ดอกเห็ดจะปริแตกออกเป็นแฉก 7-11 แฉก และค่อยๆ ปล่อยสปอร์ออกมาตามอากาศหรือแรงลม

 

เห็ดเผาะ..เพาะได้ ไม่ต้องเผาป่า
เห็ดเผาะที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ต้นพะยอมจะมีลักษณะดอกใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 กรัม…ในขณะที่เห็ดเผาะทั่วไปนั้นมีขนาดแค่ 6–8 กรัมเท่านั้นเอง

การเพาะเห็ดเผาะ 

เมื่อเราได้เชื้อเห็ดเผาะผสมน้ำมาแล้ว 
วิธีการแรก…เทลงในถุงเพาะชำต้นกล้าไม้ เช่น ไม้ในตระกูลยางนา ไม้พะยอม แล้วนำไปปลูกลงดิน ปีแรกให้ดอกเห็ดน้อย ปีที่สองนำเชื้อในขวดมาราดซ้ำ ปีที่สามได้เห็ดมากมาย

วิธีการที่สอง…ใช้จอบหรือเสียมไปแซะบริเวณรากฝอยที่บริเวณโดยรอบโคนต้นไม้ใหญ่ ประเภทไม้เต็ง ไม้รัง และไม้ยางนา แซะให้เกิดแผลเล็กน้อย ก่อนจะโรยเชื้อเห็ดลงไปที่บริเวณนั้น แล้วใช้ดินกลบใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ได้ผลแบบเดียวกับวิธีการแรกคือ ปีที่หนึ่งได้เห็ดน้อย พอเอาเชื้อมาราดซ้ำปีที่สามได้ผลผลิตมากเช่นเดียวกัน

ทีมงานวิจัยยังพบด้วยว่า หลังจากที่โรยเชื้อเห็ดลงไป หากมีการเผาป่าบริเวณนั้นเห็ดจะไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าวิธีนี้เป็นการเพาะเห็ดได้แบบไม่ต้องเผาทำลายป่า

พอเข้าหน้าฝน เมื่อได้รับน้ำฝนในปริมาณที่มากพอจนเกิดความชื้นในดิน และบวกกับความร้อนจากแสงแดด ทำให้เกิดสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราเห็ด เห็ดป่าจำนวนมากก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ปกติในธรรมชาติเชื้อราเห็ดป่าจะมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ (ไม่มีพิษ) และกินไม่ได้ (มีพิษ) ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการกินเห็ดป่านับหลายรายต่อปี (เห็ดเผาะเป็นเห็ดชนิดเดียวที่ยังไม่เคยมีใครกินแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิต)

 

ช้าก่อน! อย่าเพิ่งทิ้งเห็ดเผาะเก่าเก็บในตู้เย็นจนเนื้อดำปิ๊ดปี๋ของคุณทิ้งไปหากกินไม่ทัน เพราะเห็ดเผาะเหล่านั้นยังสามารถสปาร์กจอยได้อีกครั้งด้วยการนำมาเพาะกินต่อได้ หรือจะเอาไปขายให้มีอันจะกินก็ยังได้

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ‘เห็ดเผาะ’ หรือ ‘เห็ดถอบ’ ในภาษาเหนือ คือเห็ดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ด้วยสัมผัสกรุบกรอบ ให้รสหวานนิดๆ เมื่อเคี้ยวดังเป๊าะในปาก แต่ข้อจำกัดคือสามารถหาเก็บได้ในเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เห็ดชนิดนี้จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาด และมีแนวโน้มราคาต่อกิโลกรัมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

เมื่อฤดูฝนมาเยือน ชาวบ้านจำนวนมากจึงพากันเข้าป่าเพื่อไปขุดคุ้ยตามโคนต้นไม้หาเห็ดเผาะออกมาขายชนิดที่ว่าพลิกจนหมดป่า


ประเภทของเห็ดเผาะ
เท่าที่รู้มาเขาบอกว่า เห็ดเผาะนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ เห็ดเผาะหนัง กับ เห็ดเผาะฝ้าย

เห็ดเผาะหนังจะกินอร่อยกว่า เวลาเก็บเห็ดก็สังเกตดู ถ้าผนังมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง หากจับรู้สึกแข็งไม่นุ่มมือ เป็นเห็ดเผาะหนังค่ะ

ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย หนังจะมีลักษณะบาง มีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวรอบๆ ผิวดอก และผิวอ่อนนุ่มกว่าเห็ดเผาะหนัง


วิธีเก็บ เห็ดเผาะ

เห็ดเผาะเก็บได้ช่วงต้นฤดูฝน หรือเดือนมิถุนายน ช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ เห็ดจะออกดีมาก

พอเข้าหน้าฝนตกใหม่ๆ อากาศร้อนอบอ้าวสักหน่อย หาตะกร้าสักใบ มีอุปกรณ์เก็บเห็ดเป็นไม้เหลาแหลมแบนๆ ขนาดพอเหมาะมือเพื่อเขี่ยหน้าดิน หรือบางครั้งจะใช้ช้อนแกงที่เราใช้กินข้าวก็ได้ค่ะ แต่ส่วนมากเขาจะไม่ใช้ของมีคมมาก เพราะจะไปบาดดอกเห็ด ทำให้เห็ดไม่สวย มีตำนิ ไม่สวยงามเมื่อเวลานำมากินหรือไปขาย

สำหรับเวลาที่เหมาะแก่การหาเห็ดเผาะมากที่สุดคือหลังฝนตกใหม่ๆ เพราะน้ำฝนจะชะล้างหน้าดิน ทำให้เห็นดอกเห็ดเผาะได้ง่าย

พอฝนตก เห็ดเผาะก็มักจะขึ้นใต้ต้นไม้ พอเราเข้าในป่าต้องมองหาพุ่มไม้ ใต้พุ่มไม้ สังเกตเห็นรอยนูนๆ และรอยแตกของดิน ก็เอาไม้แหลมๆ หรือจะใช้ช้อนเขี่ยดินออก ก็จะเห็นเห็ดเผาะที่ฝังอยู่ในดิน หรือบางส่วนดอกเห็ดจะผุดขึ้นมาเหนือดินก็มี

การเก็บเห็ดเผาะ

การเลือกเห็ดเผาะ

“เห็ดถอบ” ถือว่าเป็นหนึ่งในแรร์ออฟของกินเนื่องจากในแต่ละปี จะมีออกมาขายเพียงช่วงสั้น ๆ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. เท่านั้น จึงทำให้ราคาของมันเมื่อออกมาใหม่ ๆ สูงถึง 500-600 ต่อลิตรเลยทีเดียว (แถมลิตรแต่ละร้านยังไม่มาตรฐานอีกด้วย) โดยส่วนมากเห็ดถอบที่เราเจอตามตลาดจะเป็นเห็ดใหม่ แต่ก็มีพ่อค้า แม่ค้าที่ไร้ศีลธรรมบางคนเอาเห็ดเก่ามาผสมปะปนมาขายด้วย ซึ่งเห็ดพวกนี้ไม่สามารถแยกออกได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยประสบการณ์ในการการดม หากเป็นกลิ่นดิน ดมแล้วรู้สึกสดชื่นก็ถือว่าพอไว้ใจได้ นอกจากนี้การจับดูลักษณะภายนอกก็สำคัญ เพราะจะทำให้เราสามารถแยกเห็ดต่างๆ ออกมาได้ดังนี้

 

เห็ดหนุ่ม วัยกระเต๊าะ

เป็นช่วงอายุที่ผู้คนนิยมมากที่สุด เปลือกภายนอกสีจะออกขาว ๆ ไล่ไปจนถึงน้ำตาลอ่อน เมื่อลองบีบดูจะรู้สึกได้ถึงความบาง และมีความอ่อนนุ่ม กัดแล้วมีความกรุบเหมือนกระดูกอ่อน ด้านใน เนื้อจะเป็นสีขาว เนื้อนุ่ม ให้ความรู้สึกฟินแบบสุด ๆ เมื่อเคี้ยวแล้วเห็ดแตกไส้ในไหลอยู่ในปาก

 

 

เห็ดเผาะหนุ่ม 

เห็ดช่วงนี้จะมีอายุมากกว่าเกณฑ์การเป็นเห็ดอ่อนไปไม่กี่วัน เปลือกภายนอกแทบจะเหมือนเห็ดอ่อนแทบทั้งหมด ด้านใน เริ่มมีการเปลี่ยนสี และมีความแข็งตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ความฟินตอนเคี้ยวจะลดลงเพราะไส้ในบางอันก็นุ่ม บางอันก็เริ่มแข็งตัว ในสองช่วงอายุนี้จะนิยมนำไปต้มเกลือ เพราะไส้ในมีความฉ่ำ 

 

 

เห็ดหนุ่มใหญ่ วัยกร้านโลก

หลังจากพ้นช่วงเด็กน้อยมา 5-7 วัน เริ่มก้าวสู่ความเป็นหนุ่มเปลือกภายนอกสีจะเริ่มเข้มขึ้น มีความแข็งและความเหนียวเพิ่มขึ้นมาจากตอกแรกค่อนข้างเยอะ เมื่อลองบีบจะรู้สึกได้ถึงความยืดหยุ่นของเปลือกด้านใน เริ่มเปลี่ยนเป็นสีออกเทา ๆ ไปจนถึงดำสนิท แต่จะยังคงความชุ่มชื้นภายในเอาไว้อยู่ เพียงแต่เนื้อไม่เหลว กินแล้วไม่ค่อยฟิน

 

 

เห็ดพ่อเฒ่า วัยดึก

นับเป็นระยะสุดท้ายของเห็ดเปลือกภายนอกสีจะออกน้ำตาลดำเข้ม เมื่อเอานิ้วบีบลงไปจะสามารถรู้สึกถึงความแข็ง และเหนียวได้อย่างชัดเจน ด้านใน มีความแห้ง เนื้อสีดำสนิท เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกถึงเพียงความเหนียวของเปลือก แต่ไม่ได้ความฉ่ำของเนื้อในเหมือนช่วงอายุอื่น ๆ ในสองช่วงอายุนี้จะนิยมนำไปใส่แกง หรือคั่ว เพราะมีเนื้อเหนียว

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-boil-barometer-earthstars-like-a-boss


สรรพคุณของเห็ดเผาะ

– ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง

– ช่วยรักษาอาการช้ำใน

– ช่วยป้องกันโรควัณโรค

– ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดของเซลล์มะเร็งได้ดี

– ช่วยในการสมานแผลและผิวให้เรียบเนียน

– ช่วยในการลดอาการบวมหรืออักเสบ

– ช่วยแก้อาการร้อนใน และแก้ไข้

– ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว หยุดไหลได้ง่ายขึ้น

– ช่วยบรรเทาอาการคันตามนิ้วมือและนิ้วเท้า

ความเชื่อแต่โบราณ
ในแพทย์แผนจีนมีการใช้เห็ดเผาะเป็นยาห้ามเลือดโดยใช้ผงสปอร์กับบาดแผลเพื่อหยุดการไหลของเลือดและลดภาวะมือและเท้าอักเสบมีรายงานว่ามีเผ่าสองเผ่าในรัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย คือ Baiga และ Bharia ใช้ดอกเป็นยา สปอร์นำมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ดใช้เป็นขี้ผึ่งรักษาแผลไฟไหม้ได้ เผ่า Blackfoot ในอเมริกาเหนือเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “fallen stars” เนื่องด้วยเชื่อว่าเห็ดเหล่านี้เป็นดาวที่ตกมายังพื้นดินระหว่างเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ

เห็ดเผาะทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนและแต่ละภาค เช่น เห็ดถอบ ต้มเกลือจิ้มพริกป่น พริกข่า เมนูที่ทำง่ายๆ ที่โดนใจคนเหนือหลายๆ คน หรือถ้าเป็นคนอีสานบ้านเฮาจริงๆ แล้วล่ะก็ ต้องยกให้เมนูแกงเห็ดเผาะใส่หน่อไม้ ใบย่านาง ไข่มดแดง ผักหวาน ผักติ้ว และปรุงรสชาติความหอมด้วยผักอีตู่ (ใบแมงลัก) หรืออาจจะนึ่งกินกับน้ำพริกเฉยๆ ก็ต้องขอบอกว่า แซบ! คือกันเด้อ! ทีนี้จะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอมจริงๆ ค่ะ

หากเป็นคนภาคกลาง หรือคนใต้ เขาจะแกงคั่วใส่กะทิ ส่วนคนที่ไม่ชอบกะทิ ก็เลือกทำเป็นแกงส้ม ผัดเผ็ดก็ได้ ซึ่งก็แล้วตามแต่ความชอบของแต่ละคนแหละกัน!

เคล็ดไม่ลับสำหรับการกินแกงเห็ดเผาะให้อร่อย ต้องบอกไว้ก่อนว่า อย่ารีบร้อนกินแกงตอนร้อนๆ เด็ดขาด! ต้องรอให้แกงเย็นลงสักหน่อย! ไม่เช่นนั้นปากท่านอาจจะพอง เพราะเสียงดังเป๊าะ! ของเห็ดเผาะก็ได้ (ท่านที่ยังไม่เคยกินต้องลองดูนะคะ เดี๋ยวจะหาว่าพูดไม่จริงค่ะ)


เห็ดเผาะ ต้นเหตุของการเผาป่า

ปีที่ผ่านมาเห็ดเผาะยังตกเป็นจำเลยในข้อหาเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเผาป่า ต้นเหตุของปัญหาหมอกควันที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของคนไทยจำนวนมาก กระทั่งมีแคมเปญรณรงค์ให้งดค้าขายเห็ดเผาะ โดยตั้งฉายาให้มันถึงขั้นว่าเป็น ‘เห็ดนรก แต่ก็มีเสียงแย้งจากนักวิชาการจำนวนมากที่ออกมาปฏิเสธแทนชาวบ้านว่าไม่ได้เผาป่าเพื่อให้หาเห็ดเผาะง่ายขึ้น เพราะการเผาป่ายังทำให้เชื้อของเห็ดตายลงอีกด้วยซ้ำ


ข้อมูลของเห็ดเผาะจาก วิกิพีเดีย 

เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ (hygroscopic earthstar, the barometer earthstar, หรือ the false earthstar) เป็นเห็ดราชนิดหนึ่งในวงศ์ Diplocystaceae เมื่ออ่อนและดอกยังไม่เปิดมีลักษณะคล้ายเห็ดราในหมวด Basidiomycota กล่าวคือเป็นลูกกลม เมื่อโตขึ้นดอกเห็ดมีลักษณะเป็นรูปดาวซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อชันนอกของสปอโรคาร์ปแตกออก เห็ดเผาะเป็นเห็ดชนิดไมคอไรซาที่เติบโตร่วมกับต้นไม้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินร่วนปนทราย

เห็ดเผาะมีการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ชื่อสามัญ hygroscopic earthstar มาจากมันมีคุณสมบัติไฮโกรสโคปิก (ดูดซับน้ำ) เห็ดจะเปิดดอกวงนอกเผยถุงสปอร์เมื่อมีความชื้นเพิ่มขึ้นและปิดอีกครั้งเมื่อแห้ง ดอกวงนอกจะแตกแบบไม่สม่ำเสมอที่ผิว ขณะที่ถุงสปอร์เป็นสีน้ำตาลอ่อนมีรอยฉีกยาวบริเวณด้านบน เกลบา (gleba) เริ่มแรกมีสีขาวและกลายเป็นสีน้ำตาลและเป็นผงเมื่อสปอร์เจริญเต็มที่ สปอร์มีสีน้ำตาลแดง เกือบกลม มีปุ่มเล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.5–11 ไมโครเมตร

แม้ว่าจะมีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่เห็ดเผาะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเห็ดราในสกุล Geastrum ถึงในอดีตจะมีการจัดอนุกรมวิธานไว้ในสกุลนี้ก็ตาม เห็ดชนิดนี้ได้รับการจัดจำแนกครั้งแรกโดยคร้สติน เฮนดริก เพอร์ซูน (Christiaan Hendrik Persoon) ในปี ค.ศ. 1801 เป็น Geastrum hygrometricus ในปี ค.ศ. 1885 แอนดรูว์ พี. เมอร์แกน (Andrew P. Morgan) เสนอว่าเห็นชนิดนี้มีความแตกต่างทางลักษณะในระดับที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จึงควรแยกออกเป็นสกุลใหญ่ Astraeus แต่ความเห็นนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ประชากรเห็ดในเอเชียที่แต่เดิมจำแนกเป็นเห็ดเผาะ (A. hygrometricus) ได้รับการจัดจำแนกใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 20 จากการจำแนกตามวิวัฒนาการชาติพันธุ์เห็ดในสกุล Astraeus ประกอบด้วย เห็ดเผาะฝ้าย (A. asiaticus) และเห็ดเผาะหนัง (A. odoratus)

เห็ดที่มีลักษณะคล้ายคลึง

Astraeus pteridis มีรูปลักษณ์ที่คล้ายกันแต่มีขนาดใหญ่กว่า พบในอเมริกาเหนือและหมู่เกาะคะแนรี
แม้ว่าเห็ดเผาะ (A. hygrometricus) เมื่อมองผิวเผินจะรูปร่างคล้ายกับเห็ดในสกุล Geastrum แต่มันแตกต่างจากเห็ดส่วนใหญ่ในสกุล Geastrum คือการดูดคายความชื้นตามธรรมชาติของดอกเห็ด เห็ด Hygroscopic earthstars ประกอบด้วย G. arenarium, G. corollinum, G. floriforme, G. recolligens, และ G. kotlabae.[2] A. hygrometricus ไม่เหมือนกับ Geastrum ตรงที่ดอกเห็ดยังอ่อนของ A. hygrometricus ไม่มีคอลิวเมลลา (เนื้อเยื่อสืบพันธุ์ไม่ได้ในเกลบาที่ฐานของถุงสปอร์)[3] สกุล Geastrum ถุงสปอร์จะเปิดรอบเพอริสโตมหรือจาน แต่ใน A. hygrometricus ฉีกแหว่งเพียงรอยเดียว มีความแตกต่างอีกหลายประการเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ใน A. hygrometricus เบซิเดียมไม่ได้จัดเรียงเป็นคอลัมน์คู่ขนาน สปอร์มีขนาดใหญ่กว่า และเส้นใยของแคพิลลิเทียมแตกกิ่งก้านและต่อเนื่องกับใยราของผนังหุ้มส่วนสร้างสปอร์[4][5] แม้จะมีความแตกต่างเหล่านี้ แต่ตัวอย่างทางชีววิทยาที่เก่ายังยากจำแนกแยกความแตกต่างจาก Geastrum ได้[6] เห็ดอีกชนิดในสกุล Geastrum, G. mammosum มีดอกที่หนาและเปราะ ดูดคายความชื้นปานกลาง ซึ่งอาจทำให้สับสนกับ A. hygrometricus ได้ อย่างไรก็ตาม เห็ดชนิดนี้สปอร์มีขนาดเล็กกว่า A. hygrometricus โดยทั่วไปแล้วมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดประมาณ 4 µm[7]

ถิ่นอาศัย การกระจายพันธุ์ และนิเวศวิทยา
เห็ดเผาะเป็นเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal) ที่เจริญเติบโตร่วมกับต้นไม้สามชนิด[8] มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างรากต้นไม้และกลุ่มใยราของเห็ดรา เห็ดช่วยต้นไม้สกัดสารอาหาร (โดยเฉพาะฟอสฟอรัส) จากผืนดิน ในทางกลับกัน เห็ดจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้[9] ในทวีปอเมริกาเหนือ เห็ดเผาะมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากับต้นโอ๊กและไม้จำพวกสน[10] ขณะที่ในประเทศอินเดีย มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากับสน Pinus roxburghii และต้นสาละ (Shorea robusta)[9] เห็ดเผาะพบขึ้นกระจัดกระจายหรือเป็นกลุ่มบนพื้นดินในที่เปิดโล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดินที่มีธาตุอาหารต่ำ ดินทราย หรือดินร่วน[5][11][12] มีรายงานว่าพบในพื้นที่ดินปนหินด้วยเช่นกัน ในสภาพดินเป็นกรดที่ประกอบด้วยหินชนวนและหินแกรนิต แต่ไม่พบบนดินที่มีหินปูนจำนวนมาก[13] ในประเทศเนปาล มีรายงานว่าพบเห็ดที่ความสูง3,000 เมตร (9,800 ฟุต)[14] ดอกเห็ดมักพบในฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าดอกแห้งจะสามารถคงสภาพได้สองถึงสามปี[7] Gelatinipulvinella astraeicola เป็นเห็ดราในวงศ์ leotiaceous ที่มีขนาดเล็ก คล้ายวุ้น มีแอโพทิเชียคล้ายนวม มักเจริญเติบโตในเห็ดสกุลAstraeus ที่ตายแล้ว รวมถึง A. hygrometricus ด้วย[15]

เห็ดเผาะมีการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในพื้นที่อบอุ่นและเขตร้อน[16] ยกเว้น พื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นแบบแอนตาร์ติค และแบบแอลป์[12] พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกาเหนือ[17] และอเมริกาใต้[18]

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ

โครงสร้างทางเคมีของสายโซ่โมเลกุลซึ่งมีลักษณะเฉพาะของไตรเทอร์พีน astrahygrol, 3-epi-astrahygrol, และ astrahygrone ที่ก่อตัวขึ้น
พอลิแซ็กคาไรด์ของเห็ดชนิดนี้ได้ดึงดูดความสนใจของนักวิจัยเนื่องด้วยคุณสมบัติควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและต้านเซลล์มะเร็งของมัน[19] สารสกัดจาก A. hygrometricus ประกอบด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ที่ชื่อ AE2 ซึ่งพบว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไลน์เนื้องอกในผลการทดลองเชิงห้องปฏิบัติการ[20][21] และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ม้าม ไทมอไซต์ และเซลล์ไขกระดูกในหนู สารสกัดนี้ยังกระตุ้นเซลล์ที่เชื่อมโยงกับระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย โดยเฉพาะเซลล์เพชฌฆาต กระตุ้นมาโครฟาจให้ผลิตไนตริกออกไซด์ และเพิ่มการผลิตไซโตไคน์[22][23][24][25] การกระตุ้นมาโครฟาจโดย AE2 อาจอาศัยวิถีไมโทเจน–แอคทิเวเตดโปรตีนไคเนสของกระบวนการส่งต่อสัญญาณเป็นสื่อกลาง[26][27] AE2 ถูกสร้างจาก แมนโนส กลูโคส และฟิวโคสในสัดส่วน 1:2:1[9]

นอกเหนือไปจากสารประกอบสเตอรอยด์ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ ได้แก่ ergosta-7,22-diene-3-ol acetate และ ergosta-4,6,8-(14),22-tetraene-3-one ยังมีสามไตรเทอร์พีนที่มีลักษณะเฉพาะ (สารอนุพันธ์ของ 3-hydroxy-lanostane) ถูกแยกมาจากสปอโรคาร์ปของ A. hygrometricus สารประกอบที่ชื่อ astrahygrol, 3-epi-astrahygrol และ astrahygrone (3-oxo-25S-lanost-8-eno-26,22-lactone) ซึ่งมี δ-lactone (วงแหวนรูปหกเหลี่ยม) ในโซ่ข้างเป็นคุณสมบัติทางเคมีที่แต่ก่อนไม่รู้จักในหมวด Basidiomycota[28][29] สเตอรอลเอสเทอร์ที่ไม่ทราบมาก่อนหน้านี้ (3β, 5α-dihydroxy-(22E, 24R)-ergosta-7,22-dien-6α-yl palmitate) ถูกแยกจากไมซีเลียมที่เจริญในการเพาะเลี้ยงโดยใช้อาหารเลี้ยงชนิดเหลว สารประกอบมี polyhydroxylated ergostaneซึ่งเป็นต้นแบบนิวเคลียส[30]

การสกัดสปอโรคาร์ปโดยใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลายมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบเมื่อเทียบกับไดโคลฟีแนคในการทดสอบเชิงห้องปฏิบัติการ[31] การศึกษาสิ่งมีชีวิตต้นแบบได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปกป้องตับ โดยการฟื้นฟูระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทสและคะตาเลสที่ลดลงจากการทดลองปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากคาร์บอนเตตระคลอไรด์ซึ่งทำลายตับ[32]